Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


สืบเนื่องจากการที่องค์การสหประชาชาติจัดให้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ระหว่างวันที่ 5 - 16 มิถุนายน 2515 ณ กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ผลจากการประชุมในครั้งนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ขึ้น และรัฐบาลจากนานาประเทศได้รับข้อตกลงจากการประชุมในครั้งนั้น แล้วดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน รวมทั้งได้นำผลจากการประชุมดังกล่าวมาจัดทำเป็นรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปี UNEP ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก

สำหรับในปี 2556 นี้ UNEP ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Think-Eat-Save” ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ใช้หัวข้อภาษาไทยว่า “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อันเป็นการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐในเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)

แนวคิด Think-Eat-Save เป็นการรณรงค์ให้พลเมืองโลกตระหนักในความสูญเสียที่เป็นอาหารเหลือทิ้งและเศษอาหาร เพื่อปลุกเร้าให้ลด “Foodprint” เพราะข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในทุกๆ ปี จะมีอาหารที่ถูกทิ้งไปราว 1.3 พันล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราทั้งหมด ขณะที่ประชากรโลกทุกๆ 1 ใน 7 คนได้รับความอดอยากหิวโหย และมากกว่า 2 หมื่นคนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เสียชีวิตเพราะขาดอาหาร

โลกในขณะนี้ จำต้องจัดหาทรัพยากรรองรับประชากรจำนวน 7 พันล้านคน (และจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคนในปี ค.ศ.2050) FAO คาดการณ์ว่า หนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตทั่วโลก มิได้รับการบริโภค และถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้ร่อยหรอลงเพื่อนำมาผลิตอาหารที่ไม่ถูกบริโภค และยังเป็นการสร้างผลกระทบทางลบจากขยะอาหารเหลือทิ้งทับถมสู่สิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของอาหารที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัต เช่น นมจำนวน 1 ลิตร ต้องใช้น้ำ 1,000 ลิตร ไปในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง หรือแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น จะเกี่ยวข้องกับน้ำ 16,000 ลิตร ที่ต้องถูกใช้ไปกับอาหารวัว ไม่นับรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์และจากห่วงโซ่อุปทานอาหาร ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสูญเปล่า หากอาหารที่ผลิตนั้น ไม่ได้ถูกนำมาบริโภค

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สายการผลิตอาหารโลก ครอบครองพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยไปร้อยละ 25 และเป็นกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้น้ำจืดเพื่อการบริโภคถึงร้อยละ 70 ต่อการทำลายป่าในอัตราร้อยละ 80 และต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อัตราร้อยละ 30 นับเป็นมูลเหตุซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่สุดต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกอาหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย หรืออาหารอินทรีย์ (Organic Food) ที่ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เลือกซื้ออาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ที่ช่วยลดการขนส่งและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สมกับคำขวัญที่ว่า “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม