Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

กรอบแนวคิด


การใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรียกว่า Blue Ocean Strategy ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในช่วงห้าปีที่ผ่านมาโดยคำนึงถึงแต่การสร้างตลาดใหม่ หรือการสร้างและยึดอุปสงค์ใหม่เพียงลำพัง ไม่อาจนำไปสู่คำตอบของธุรกิจในบริบทของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ผลิตภัณฑ์สนองตลาดใหม่ที่มีทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ แต่ส่งผลกระทบเสียหายกับสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

เพราะจากผลสำรวจของ PSB-JWT Sustainability Poll พบว่า ร้อยละ 49 ของผู้บริโภคตระหนักถึงการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งมองได้ว่าเป็นโอกาสของธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนต่ำเสมอไป


การกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ เพื่อหวังจับจองผลได้ในทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม แต่ไปสร้างให้เกิดมลพิษหรือความเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศ หรือคุกคามต่อความอุดมสมบูรณ์ของทุนทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ก็ไม่อาจจัดเป็นกลยุทธ์ที่ใช้การได้ของธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

กระทั่งการไม่เน้นลงสู่สมรภูมิการแข่งขันตามแนวคิด Blue Ocean ที่หลายธุรกิจพยายามยกระดับด้วยนวัตกรรมทางคุณค่า (Value Innovation) แต่หากธุรกิจไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นในผลิตภัณฑ์ที่เป็น Cash Cow หรือยึดครองพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบันของตน ด้วยการเติมองค์ประกอบทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม อย่าว่าแต่ตลาดใหม่ที่ไร้การแข่งขันซึ่งยากแก่การจับจองในสภาวการณ์เช่นนี้ ตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้แก่กิจการอยู่ตรงหน้าก็จะมีอันต้องหลุดลอยไปด้วย

กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean Strategy จึงเป็นหนทางที่จะช่วยธุรกิจยกระดับการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีความต้องการเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกอยู่ในขณะนี้