Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

Green Strategy วิถีสีเขียวไทยพัฒน์


“สถาบันไทยพัฒน์” เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อยกระดับและพัฒนา การดำเนินธุรกิจแขนงต่างๆ โดยไม่ยึดติดกับเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด เป็นเป้าหมายหลัก

จากการผ่องถ่ายหลักปรัชญา “เศรษฐกิจ พอเพียง” มาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ และพัฒนามาสู่ในเรื่องของ “CSR” ในการขยายเครือข่ายธุรกิจให้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย และเมื่อไม่นานมานี้ทางสถาบันได้พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของ Green Ocean Strategy หรือ “น่านน้ำสีเขียว” เพื่อผลักดันออกสู่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ บอกกับ “สยามธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาสถาบันดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ 4 ข้อ ดังนี้ คือ 1. ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจ พอเพียงและธุรกิจที่มีบรรษัทภิบาล หรือความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ 2. พัฒนางานวิจัย และสนับสนุนงานวิจัยด้านเศรษฐกิจพอเพียงและบรรษัทภิบาล รวมถึงงานคิดค้นเครื่องมือและกิจกรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว 3. ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการนำเอาแนว คิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ใช้ในธุรกิจเอกชน วิสาหกิจชุมชน และครัวเรือน รวมถึงการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจที่ต้องการสร้างบรรษัทภิบาลในองค์กร และ 4.ร่วมมือกับส่วนราชการ และองค์กร การกุศลอื่นๆ ในการขยายการปฏิบัติงานขับเคลื่อน เศรษฐกิจพอเพียงและบรรษัทภิบาล

“จากการที่เราเริ่มต้นมาจากการวิจัยเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง และต่อมาได้พัฒนามาสู่ในเรื่องของซีเอสอาร์ เพราะซีเอสอาร์ จะคำนึงคือ ความยั่งยืน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเป้าหมายในเรื่องของความสมดุลยั่งยืน ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้ มีความสัมพันธ์กัน คือ ตัวซีเอสอาร์เป็นกลไก ในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึงพฤติกรรมขององค์กรที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการทำกิจกรรม โดยทำอะไร ทำแล้ว ได้อะไร ทำแล้วทำให้องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

ทั้งนี้ จากการที่สถาบันได้นำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์กับการทำธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน และได้พัฒนาเป็นการดำเนินธุรกิจบนแนว ทางของความรับผิดชอบต่อสังคม CSR และเรื่อง ของกรีนก็ถือว่าอยู่ในกรอบการดำเนินงานที่อยู่ในข่ายเดียวกัน จากเดิมเป้าหมายขององค์กรคือ การเติบโต และความยั่งยืน โดยได้ใช้กลยุทธ์แบบ ซีเอสอาร์ แต่การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ต้องใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว (Green Ocean Strategy) ซึ่งประเทศต่างๆ กำลังตื่นตัวอยู่ เช่น ประเทศมาเลเซียกำลังมีการวาง road map กลยุทธ์นี้ และก่อนหน้านี้ ประเทศเกาหลีใต้ได้พัฒนานโยบาย Green Growth และทิศทางในอนาคตของธุรกิจคือการก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

โดย ไทยพัฒน์ นำเรื่องของ Green Ocean Strategy ออกมาสื่อสารนั้น มีวัตถุ ประสงค์ 2 ประการ คือ 1.กระแสของ Ocean Strategy ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่าง แพร่หลาย หากเปรียบกับกลยุทธ์ Red Ocean ที่จะมุ่งฟาดฟัน แข่งขันเพื่อให้ได้ชัยชนะเป็นสำคัญ ส่วนกลยุทธ์ Blue Ocean คือการไม่แข่ง แต่จะเน้นพัฒนานวัตกรรมด้านคุณค่าใหม่ๆ

ขณะที่ กลยุทธ์ Green Ocean นั้น จะนำทั้ง 2 รูปแบบมาผสมผสาน กัน ไม่ว่าจะแข่งขันหรือจะสร้างนวัต กรรมนั่นเป็นสิ่งไม่สำคัญ แต่เมื่อพัฒนามาแล้วจะทำอย่างไรให้คงอยู่ ได้ตลอดไป คือต้องใช้กลยุทธ์การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึง คุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และเป็น การสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้อยู่ในองค์กร

ในส่วนที่ 2 สถาบันต้องการขับเคลื่อนให้การรับรู้เรื่องของ Green Ocean Strategy ขยายวงกว้างมากที่สุด คือให้เกิดการกระทำ ด้วยการขมวดองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อสื่อสาร ให้เป็นระบบ ขณะเดียวกันก็จะเข้าไปร่วมศึกษา พัฒนา วิจัย กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่สนใจทำเรื่องกรีน “เราจะดูว่าองค์กรในภาคีไหนที่จะเป็นต้น แบบ อาทิ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น SCG ที่แม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว แทบไม่ต้องแข่งขันทั้งในเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการกับคนอื่น แต่ต้องแข่งกับตนเองในการทบทวนการวางผลิตภัณฑ์ในมิติของสิ่งแวดล้อมให้มีมากขึ้น ซึ่งเป็น การแข่งกับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ เพื่อตอบรับกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเห็นสินค้าใหม่ของ SCG ที่ค่อยๆ ทดแทนสินค้าเก่า และกลายเป็นสินค้าที่มีบริบทใหม่ขึ้นมา”

ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันในเรื่อง Green Ocean Strategy มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ การจัดการระบบที่จะทำให้แต่ละองค์กรรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ ตัวบริษัทหรือหน่วยงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งคือจะเข้าไปอบรมพนักงานขององค์กรเพื่อให้เปลี่ยน พฤติกรรม และตระหนักถึงเรื่องของสนับสนุนใน ความเป็นมิตรแต่สิ่งแวดล้อม

“ตอนนี้เรามีอยู่ 4 องค์กรที่ได้เข้ามาร่วมวิจัยทำ Green Ocean Strategy ได้แก่ SCG กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, บางจาก กลุ่มพลังงาน, พฤกษา เรียสเอสเตท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มบริการ อย่างธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ซึ่งการเข้าไปร่วม วิจัยนั้นจะทำคล้ายเหมือนรูปแบบซีเอสอาร์ที่ผ่านมา แต่จะเน้นเจาะประเด็นที่น่าสนใจของกรีนเป็นหลักในแต่ละองค์กร แล้วก็เข้าไปรวบรวมประมวล ผลและพัฒนาจากองค์ความรู้ที่ทางเรามี และก็มาจำแนกแยกแยะว่าตัวไหนขององค์กรเข้าข่ายกรีน และก็นำมาสรุปให้องค์กรเขาเห็นว่าถ้าเขาทำแล้วจะเกิดอะไรกับผู้บริโภค และเราก็นำข้อมูลกรณีศึกษาต่างๆ มาสรุปลงตามสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ อย่าง สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องของกรีนและรู้ว่าแต่ละ องค์กรที่เข้าร่วมวิจัยนั้นทำอะไรเพื่อสังคมและสังคมได้อะไรบ้าง” ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


[Original Link]