Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

บทบาทภาครัฐ หนุนเอกชน ใส่ใจสังคม+สวล.


กระแสกรีน ๆ จะไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่เกิดขึ้นมาแล้วหายเงียบไปอีกต่อไปแล้ว สำหรับสังคมโลกยุคที่อะไร ๆ ก็บอกว่าเกิดจากภาวะโลกร้อน

แม้การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 16 และการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 6 ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคมที่ผ่านมา จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ในโลก ก็ได้ประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะจนเหลือศูนย์ ลดการทำลายป่าไม้ ด้วยการใช้ไม้จากป่าปลูกเพื่อการพาณิชย์ และนำไปสู่การสร้างธุรกิจสีเขียวที่เฟื่องฟูอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

ด้านประเทศไทย บทบาทของภาครัฐในการกระตุ้นให้ภาคเอกชนดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือซีเอสอาร์ ซึ่งเริ่มเป็นคำที่ถูกผนวกมาด้วยกันและพูดถึงกันมากขึ้นในหลายเวที แล้วภาครัฐไทยมีบทบาทอย่างไร

2554 ปีแห่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
"ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานองค์กรต้นแบบกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมของไทยต่อจากนี้ไปจะต้องว่ากันด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม

มีการบริการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีการเปิดเผยข้อมูล พร้อมกับส่งเสริมในการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน พัฒนา และแก้ไขปัญหา

"ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกนำมาต่อรองบนเวทีการค้าโลก ประเทศชั้นนำทั้งหลายต่างออกนโยบายด้าน สิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน มีการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน มีการออกสลากสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการใช้พลังงานทางเลือก ทั้งโลกกำลังก้าวสู่ยุคกรีน หรืออุตสาหกรรมสีเขียว"

ดังนั้น ในปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมียุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรม เพื่อให้ปี 2554 เป็นปีแห่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

โดยแผนงานผลักดันยุทธศาสตร์นี้มีอยู่ในมาตรการส่งเสริม 5 แนวทาง ได้แก่ 1) การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน เช่น การลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัด

พลังงาน ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ดำเนินการปรับโครงสร้าง ภาษีรถยนต์ใหม่ทั้งระบบ 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว 3) การผลิตสินค้า สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งวัตถุดิบ เทคโนโลยี บรรจุภัณฑ์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4) การจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมของภาครัฐ 5) การส่งเสริมผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจของสังคม และสร้างความไว้วางใจระหว่างชุมชนกับโรงงาน

และในปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมยังจะมีการประกาศรางวัล "อินดัสตรี อะวอร์ด" เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเริ่มจากการชักจูงด้านสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และให้บุคคลที่สามรับรองการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบ เพื่อสร้างวัฒนธรรมสีเขียวให้กับพนักงาน และสร้างเครือข่ายสีเขียวผ่านการสร้างห่วงโซ่สีเขียว (supply chain) สู่สังคมอุตสาหกรรมสีเขียว

คลังใช้ Carrot & Stick ดันซีเอสอาร์
ด้าน "กรณ์ จาติกวณิช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน CSR Thailand 2011 ไม่ทำไม่ได้แล้ว "Raising the Bar in CSR, Transforming Businesses in Thailand" เมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า บทบาทของรัฐบาลในการที่จะช่วยสังคมมีระดับที่แตกต่างกัน ถ้าในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาได้จากงบประมาณที่รัฐบาลเบิกจ่ายในแต่ละปีเทียบกับ GDP ของประเทศอยู่ที่ 16-17%

ขณะที่บทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมให้เอกชนมีความตื่นตัวทำกิจกรรมทางด้าน ซีเอสอาร์ กระทรวงการคลังก็มีสิ่งที่เรียกว่า "ตัวล่อและตัวตี" หรือในภาษาอังกฤษ คือมีทั้ง Carrot & Stick

ด้าน Stick ซึ่งหมายถึงไม้ที่ถือไล่ตี ภาครัฐก็มีมาตรการด้านการควบคุมหลายเรื่องที่นำมาใช้เพื่อผลักดันให้เอกชนทำซีเอสอาร์ ซึ่งในกระทรวงการคลัง มาตรฐานที่ชัดเจนที่สุด คือมาตรการภาษี และภาษีสรรพสามิต หรือภาษีบาป

กล่าวคือภาษีสรรพสามิตนั้นมีเจตนา ในแง่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาครัฐ แต่เป้าหมายจุดเริ่มต้นของการกำหนดภาษีสรรพสามิต คือใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรม หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจจะถือว่าเป็นภัยต่อสังคม ทั้งภาษีเหล้า ภาษีบุหรี่ และล่าสุด คือการกำหนดมาตรฐาน จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ใช้หลักคิดว่าใครผลิตมลพิษ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายภาษี เพื่อรัฐบาลจะได้เอามาใช้เยียวยาสภาพแวดล้อม เยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นี่เป็นมาตรการควบคุม

ส่วนมาตรการส่งเสริม คือสิทธิการหักภาษีต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่มีให้กับทางเอกชน

ปัจจุบันมีการให้สิทธิกับบริษัทจำกัด นิติบุคคลไทยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ไปหักภาษีได้ถึง 2% ของกำไรสุทธิของบริษัท ฟังแล้ว ดูเปอร์เซ็นต์อาจไม่เยอะ แต่ในความเป็นจริง มีบริษัทที่ใช้สิทธิเต็มที่ ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและนิติบุคคลทั่วไปเพียง 16,000 แห่ง จากบริษัทที่จดทะเบียนหลายแสนราย

"ดังนั้น แม้จะมีภาคเอกชนขอให้รัฐบาลเพิ่มเพดานหักภาษีให้มากขึ้น แต่ความจริง คือยังมีอีกหลายแสนบริษัทยังไม่ได้ใช้สิทธินี้เลยด้วยซ้ำ" นายกรณ์กล่าว

ส่วนในระดับบุคคล สำหรับผู้เสียภาษีส่วนบุคคล หากได้ทำกิจกรรมการกุศล หรือในด้าน CSR กระทรวงการคลังก็มีข้อกำหนดที่ระบุให้สามารถนำเงินส่วนนั้นมาหักภาษีได้เหมือนไม่เกิน 10% ของมูลค่าโดยรวมที่สามารถหักได้ ซึ่งจากข้อมูลของรัฐมนตรีระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธินี้ประมาณ 3 แสนกว่าคน และเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีเงินได้ที่คลังจัดเก็บได้มาเปรียบเทียบกับสิทธิตามเพดานที่มีการหักภาษี 10% ณ ปัจจุบันมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 2.6-2.7% ของสิทธินี้เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่มาตรการ ส่งเสริม คลังได้ออกมาตรการภาษีอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนรับผิดชอบสังคมและ สิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมันเอทานอล การหาวิธีลดราคาหนังสือ เพื่อจะให้เยาวชนของชาติเข้าถึงการอ่านมากขึ้น การส่งเสริมการศึกษาโดยรวม การส่งเสริมผู้สูงอายุ การช่วยเหลือผู้พิการต่าง ๆ

หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจปี 2553 กระทรวงการคลังก็ได้เพิ่มปรับการกำหนดตัวชี้วัดประเด็นในเรื่องของกิจกรรม CSR ของรัฐวิสาหกิจ จากเดิมที่ให้น้ำหนักอยู่ที่ 15% ของการประเมินโดยรวม ก็ปรับสัดส่วนนี้เพิ่มมาเป็น 20% ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้เห็นรัฐวิสาหกิจมีบทบาทในการออกมาช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น


[Original Link]