Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

Green Ocean: ธุรกิจกับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม


เวลานี้เป็นที่ปัจจัยแล้วว่า ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการตอกย้ำจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน และเกิดภัยธรรมชาติในจำนวนและอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ถูกทวงถามจากภาคประชาสังคม ผู้มีส่วนได้เสีย และบางบริษัทนำเรื่องมาใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในอีกทางหนึ่ง

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2553 สถาบันไทยพัฒน์ได้ร่วมกับบมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ประกาศเปิดกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว (Green Ocean Strategy) โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมสนับสนุนให้ธุรกิจไทยเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ระบุว่า แนวคิดเรื่อง Green Ocean เป็นแนวคิดแห่งความสมดุล เป็นทางสายกลาง ที่จะช่วยธุรกิจยกระดับการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีความต้องการเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความห่วงใยเรื่องสุขภาพ

หลังจากที่สนามการแข่งขันที่รุนแรงได้ทำให้เกิดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรียกว่า "Blue Ocean" ในช่วง 5 ปีมานี้ ด้วยความพยายามคำนึงถึงการสร้างตลาดใหม่ หรือการสร้างหรือยึดอุปสงค์ใหม่ รวมทั้งการมุ่งเน้นที่จะยกระดับการเติบโตด้วยการสร้างนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovation Value) เพื่อหลีกหนีสมรภูมิการแข่งขันในแบบ Red Ocean

แต่สถานะของตลาดแบบ Blue Ocean ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้นาน เมื่อผู้เล่นหน้าใหม่ต่างเห็นโอกาสเดียวกันและกระโจนเข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่ด้อยไปกว่ารายเดิม จนกลายเป็น Red Ocean ในที่สุด

"กระแสซีเอสอาร์ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจ ภายใต้กรอบการพัฒนาความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value) ให้คงอยู่กับธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเติมองค์ประกอบด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม"

ถึงตอนนี้กระแสหลักของโลกในเรื่องอุปสงค์สีเขียว ได้กลายเป็นปัจจัยที่ 3 ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีความห่วงใยในความปลอดภัย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิต ภายใต้วิถีแห่งการบริโภคที่ยั่งยืน นอกเหนือจากเรื่องราคาและคุณภาพ

ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงเรื่อง กลยุทธ์ Green Ocean ว่าแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เรื่องของ "ระบบ" ที่กำกับดูแลด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) และเรื่องของ "คน" ที่ปลูกสร้างด้วยอุปนิสัยสีเขียว (Green Habits)

โดยธรรมาภิบาลสีเขียว จำแนกออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ภาระรับผิดชอบในกระบวนการ และประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ ขณะที่การสร้างอุปนิสัยให้กับบุคลากรก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเดินไปสู่เป้าหมายตามแนวคิด Green Ocean โดยพฤติกรรมที่ควรส่งเสริมให้กลายเป็นอุปนิสัยสีเขียว ได้แก่ Rethink, Reduce, Reuse, Recycle, Recondition, Refuse และ Return


[Original Link]