Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

กระแสสีเขียว สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วรณัฐ เพียรธรรม

กระแสสีเขียวกำลังเป็นกระแสที่ตีคู่ในเชิงสนับสนุนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อกระแสหลักมุ่งไปเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรเสีย เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมถึงอาเซียนในอนาคต ก็ต้องมีการพูดถึงคำว่า Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีการเสนอให้มีการเปลี่ยนกรอบความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุล จากแบบเสาหลักแห่งการพัฒนาที่ยึดเป็นตัวแบบตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาเป็นมิติแห่งการพัฒนาด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นับจากปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งเสริมการพัฒนาในแบบแยกส่วน และเน้นให้เกิดผลของการพัฒนาที่คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติในทุกระดับของการพัฒนา

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่าสิ่งแวดล้อม จึงอาจจะไม่ใช่เอาคำว่า สีเขียว มาทับได้สนิทจริง ๆ เพราะนิยามของคำว่า สีเขียว ในวันนี้ขยายไปทาบในมิติเศรษฐกิจและมิติสังคมด้วย อย่างเช่น เรื่อง "การเติบโตสีเขียว" ที่ถูกริเริ่มขึ้นจากหลายสำนัก ทางหนึ่งจาก UNEP ทางหนึ่งจาก ESCAP ทางหนึ่งจาก OECD กลายเป็นคำร่วมที่ต้องการขจัดความลักลั่นระหว่างผู้ที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม กับผู้ที่ดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมีความพยายามที่จะหลอมรวมสองเรื่องนี้ให้ไปด้วยกัน

จะเห็นว่าโลกให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จะทำได้แค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะยังมีความท้าทายอีกมากมายรออยู่ แต่สำหรับภาคธุรกิจหากพิจารณาให้ดีจะเป็นโอกาสในการพลิกเรื่องการเติบโตสีเขียวให้กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้

สำหรับประเทศไทย ภาพความเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว สภาพัฒน์กำหนดชัดเจนว่าจะเดินทางไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย มลพิษเกิดขึ้นมากมาย และธีมเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว กลายเป็นธีมที่ลากยาวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2570

การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ด้วยคำ 3 คำ คือ Enable เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมาก เพราะถือว่าอยู่หัวขบวนของภาคเอกชน ซึ่งถ้าอยู่ดี ๆ จะไปบอกให้บริษัทใหญ่ ๆ ทำเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว โดยที่บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย เขาคงไม่ทำ อย่างเช่นเรื่องคาร์บอน อาจจะมีที่ทำเก็บไว้ แต่จะให้ลุกขึ้นมาแล้วนำสังคม นำตลาด คงไม่เอา

ฉะนั้น สำหรับองค์กรที่มีความพร้อม แต่บรรยากาศในธุรกิจไม่เอื้อ ภาครัฐจะต้องลงไปส่งเสริมอะไรบางอย่าง เช่น กลไกทางด้านภาษี สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ส่วน Encourage คือกลุ่มองค์กรที่ยังยึกยักอยู่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ดังนั้นต้องพยายามจูงใจ สนับสนุนอะไรบางอย่าง และสำหรับ Enforce เป็นกลุ่มที่หมิ่นเหม่กับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ต้องใช้กฎหมายมาบังคับ

ข้อแนะนำของ ESCAP ต่อการพลิกกระแสสีเขียว ให้กลายเป็นโอกาสสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประการแรก คือ ทำให้อุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มลพิษค่อย ๆ ลดลง และหันมาใช้พลังงานทดแทน รวมถึงใช้วิธีการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle)

ประการที่สอง การส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสินค้าและบริการ การเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มอบโอกาสให้ธุรกิจใหม่ ๆ เช่น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) หรือที่เห็นชัดและมีมานาน คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 หรือที่คนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เช่น บริษัทผู้ให้บริการด้านพลังงาน (ESCOs) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และถือเป็นธุรกิจที่จะทำเงินได้มาก ถ้าบริหารจัดการดี ๆ

ประการที่สาม การพลิกทุนทางธรรมชาติให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งน่าสนใจและสะท้อนถึงโอกาสในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี นั่นคือการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการลงทุนทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดโอกาสในการสร้างกำไรและการจ้างงาน อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการสงวนไว้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมดั้งเดิม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้

ตัวอย่างการทำเกษตรยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างความจำเป็นในการรักษาความสมบูรณ์เชิงนิเวศกับการสร้างผลกำไรควบคู่กันไป นั่นอาจเป็นภาพกว้าง ๆ ของการพลิกสีเขียวให้เป็นธุรกิจ และแน่นอนว่าแนวโน้มสินค้าสีเขียวจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับเอสเอ็มอีบ้านเรายังอาจจะยากอยู่สักหน่อย

เพราะนอกจากไอเดียแล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการที่ดีด้วย และโดยวิธีการก็จะต้องพิสูจน์ด้วยกรณีตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม และเกิดเป็นผลได้ต่อธุรกิจจริง ๆ


[Original Link]