Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

คลีนิกการพิมพ์ (สี) เขียว

สกุลกาญจน์ เกิดชัย

สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุม CSR Asia Summit 2013 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดย CSR Asia สำหรับห้องสัมมนาที่ดิฉันให้ความสนใจ คือ Green Print Clinic ที่นำการสนทนาโดย "Ms. Amanda Keogh" หัวหน้าส่วนงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และออสเตรเลีย ของบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ จำกัด

มีผลสำรวจระบุว่า ยอดการสั่งพิมพ์เอกสารของบุคลากรสำนักงานโดยเฉลี่ย มีจำนวนสูงถึง 10,000 แผ่นต่อคนต่อปี แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าว ส่งผลต่องบประมาณรายจ่ายขององค์กรโดยตรง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องปริมาณขยะเอกสาร รวมถึงการสิ้นเปลืองพลังงานด้วย


ในการสัมมนาครั้งนี้ Ms. Amanda Keogh ได้นำเสนอแนวทางรวมถึงกลวิธีในการลดการพิมพ์เอกสาร โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง โดยเริ่มจาก

ขั้นแรก ทำการประเมินปริมาณการพิมพ์เอกสารของตัวเองว่าอยู่ในปริมาณเท่าใด

ขั้นที่สอง ลงมือปฏิบัติโดยการลดการสั่งพิมพ์ในส่วนที่ไม่จำเป็นเท่าที่ทำได้

ขั้นที่สาม สำรวจว่าสิ่งที่ลดนั้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดทรัพยากรและพลังงานไปเท่าใด และพัฒนากลวิธีให้เกิดการประหยัดเพิ่มขึ้น และ

ขั้นที่สี่ หาแนวร่วมด้วยการเชิญชวนให้พนักงานในองค์กรเดียวกันริเริ่มพฤติกรรมดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงข้อดีในการลดการพิมพ์

ในทัศนะของดิฉันเห็นว่า การดำเนินกิจกรรม Green Print Clinic เป็นประโยชน์ในแง่ของการรณรงค์เชิงการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) ที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการพิมพ์เอกสารในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ เนื่องเพราะเป็นความเคยชิน หรือมิได้ใส่ใจต่อผลที่เกิดขึ้นกับองค์กรและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

กิจกรรม Green Print Clinic ยังให้ประโยชน์ในแง่ของการกระตุ้นจิตสำนึกการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง การประหยัดงบประมาณ และการลดปริมาณขยะ ส่งผลดีทั้งกับองค์กรและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน เรียกได้ว่าเป็น win-win situation เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ในห้องสัมมนามีการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับการจูงใจเพื่อลดการพิมพ์เอกสารของแต่ละแผนกในองค์กร ด้วยการจัดแข่งขัน และมอบรางวัลให้กับแผนกที่ลดการพิมพ์เอกสารได้มากที่สุดว่าเป็นการสมควรหรือไม่ ซึ่งวิทยากรให้ทัศนะว่า เป็นความคิดที่ดีในช่วงแรก แต่เมื่อพนักงานในองค์กรมีส่วนร่วมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การคงพฤติกรรมการลดการพิมพ์เอกสารให้ดำเนินอยู่เป็นกิจวัตร

ข้อสรุปที่ได้จากงานสัมมนาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นประการหนึ่งว่า ด้วยความที่ไม่ได้ใส่ใจสังเกตอย่างจริงจัง คนส่วนใหญ่จึงไม่ตระหนักว่าจำนวนเอกสารที่พิมพ์โดยบุคลากรสำนักงานในแต่ละปีนั้น มีจำนวนมากเกินความคาดหมาย

ประการต่อมา การคิดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนใช้ทรัพยากรใดก็ตามทุกครั้ง ไม่เฉพาะกับการพิมพ์ เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานโดยไม่จำเป็น

ประการที่สาม การเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงาน ควรเริ่มจากตัวเราเองก่อน เพราะเมื่อเราทำสำเร็จและได้ผลดีแล้ว จึงสามารถบอกต่อและขอความร่วมมือจากผู้อื่นได้

เมื่อทราบดังนี้แล้ว ดิฉันคงต้องเริ่มต้นขั้นตอนลดปริมาณการพิมพ์เอกสารตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะนอกจากจะส่งผลดีกับส่วนงานและองค์กรที่ทำอยู่ ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรวมด้วย

ฉะนั้น เรื่องที่เรามองข้าม ไม่ให้ความสำคัญอย่างเรื่องการพิมพ์เอกสารที่เล่าสู่กันฟังนี้ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด ด้วยข้อมูลผลสำรวจปริมาณความสิ้นเปลืองดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น หวังว่าบทความนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกท่านหันกลับมาใส่ใจกิจกรรมในกระบวนงานต่างๆ มากขึ้น จนค้นพบช่องทางในการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในแบบอื่นๆ เพิ่มเติม


[ประชาชาติธุรกิจ]