Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

RoE ของกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว

วรณัฐ เพียรธรรม สถาบันไทยพัฒน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่สนามธุรกิจที่มีเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของกิจการนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องโน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นคล้อยตามและเห็นด้วยกับวาระสีเขียวขององค์กร จนได้รับฉันทามติให้สามารถดำเนินการตามโจทย์ในเรื่องดังกล่าว

เมื่อธุรกิจนำเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในสมการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แต่ละองค์กรพยายามจะสร้างความแตกต่างในวาระสีเขียวของตนเองให้เหนือหรือมากกว่าคู่แข่งขัน ทำให้นิยามของคำว่า "สีเขียว" ถูกขยายวงไปจากเดิมที่เคยพิจารณาแต่มิติด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ของเสีย มลภาวะ ฯลฯ กลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันทั้งหมดในระบบนิเวศ (Ecosystem) ตั้งแต่ความหลากหลายทางชีวภาพ ความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ และความเสมอภาคเป็นธรรมทางสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ระดับขั้นของความเป็นสีเขียวยังได้ถูกจำแนกเพื่อจัดชั้นของกิจการตามความเข้มข้นในการดำเนินงานได้ตามวาระสีเขียวที่องค์กรกำหนด เริ่มตั้งแต่การนำเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่าย (Cost Saving) เช่น การงดรับสลิป ATM การลดขนาดใบเสร็จรับเงิน การปิดไฟ ปิดแอร์ในสำนักงาน ฯลฯ ขยับมาสู่การใช้วาระสีเขียวเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างรายได้ (Revenue Creating) เช่น การผลิตสินค้าจากกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและดีกว่าสินค้าทั่วไปในประเภทเดียวกัน (อีโคเลเบล) การผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) หรือการผลิตขวดบรรจุน้ำดื่มที่ลดการใช้วัตถุดิบพลาสติกลงได้ 35% (อีโคครัช) ฯลฯ

กลยุทธ์หนึ่งที่สถาบันไทยพัฒน์ได้นำเสนอเพื่อตอบสนองต่อการขับเคลื่อนวาระสีเขียวของกิจการ คือ กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean Strategy ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของ "ระบบ" ที่กำกับดูแลด้วยธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) และเรื่องของ "คน" ที่ปลูกสร้างด้วยอุปนิสัยสีเขียว (Green Habits)

มาตรการในเรื่องของธรรมาภิบาลสีเขียวสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) ภาระรับผิดชอบในกระบวนการ (Process Accountability) และประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ (Product Effectiveness)

ในหมวดที่เป็นประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร กิจการสามารถพัฒนาการผลิตหรือการให้บริการด้วยการพิจารณาที่ปัจจัยนำเข้า (Input) คือ การใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นวัตถุดิบและพลังงานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ เพื่อการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่ต้นทางและการลดของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้นในปลายทาง

ตัวอย่างของแนวปฏิบัติในหมวดนี้ ได้แก่ มาตรการประหยัดพลังงาน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ การจัดหาทรัพยากรจากหน่วยงานที่นำวัสดุที่หมดสภาพหรือที่ใช้แล้วมาปรับสภาพเพื่อนำมาใช้ใหม่ การซื้อวัตถุดิบเท่าที่จำเป็นต่อการผลิตหรือการให้บริการ และจากแหล่งที่อยู่ใกล้เคียงก่อน เพื่อลดการขนส่งจากระยะไกล ซึ่งเป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกอันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน การปฏิเสธการซื้อวัตถุดิบที่เป็นต้นเหตุในการทำลายธรรมชาติหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดแจ้ง การลดการใช้ทรัพยากรที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น การรณรงค์ให้ผู้ส่งมอบจัดหาวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"เจอร์ริต เฮย์นส์" หุ้นส่วนบริษัทจัดการลงทุนออสโมซิสในประเทศอังกฤษได้ทำการศึกษาและจัดทำดัชนี MoRE World (Model of Resource Efficiency) ซึ่งใช้ข้อมูลจากบริษัทที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรติดอันดับ top 10 ในแต่ละสาขา อ้างอิงตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสากลแบบ Industry Classification Benchmark (ICB) นำมาเปรียบเทียบกับดัชนี MSCI World พบว่าผลตอบแทนการลงทุนในธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม MoRE World สามารถเอาชนะดัชนี MSCI World ไม่ว่าตลาดหุ้นจะอยู่ในสภาวะเติบโตหรือถดถอย ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (โปรดดูตารางประกอบ)


จากข้อมูลผลการศึกษาที่ "เจอร์ริต เฮย์นส์" เผยแพร่ในบล็อกของ Harvard Business Review สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่า กิจการซึ่งอยู่ในกลุ่ม MoRE World สามารถสร้างผลประกอบการที่ดี โดยสะท้อนผ่านข้อมูลอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตรากำไรสุทธิ (Net Margins) ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets) และผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (Return on Equity) ที่เหนือกว่ากิจการซึ่งอยู่ในกลุ่ม MSCI World อีกด้วย

ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถแสดงให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเห็นว่า การดำเนินกลยุทธ์สีเขียวของกิจการมิใช่เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ "มีก็ดี-ไม่มีก็ได้" หรือ nice-to-have strategy แต่ยังให้เกิดผลดีต่อตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ และถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนในหมู่ของนักการเงินนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ


[Original Link]