Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

เปิด Green Ocean Strategy 3 องค์กรต้นแบบธุรกิจสีเขียว


ปัญหาโลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทำให้เกิดวิกฤตทางสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์คือต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

หนึ่งในผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน คือ อุตสาหกรรมที่มนุษย์เป็นเจ้าขององค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะปล่อยควันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทิ้งน้ำเสียลงทะเล ใช้วัตถุดิบหรือสารเคมีที่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยไม่สนใจและใส่ใจกับผลกระทบที่ตามมา ซึ่งสุดท้ายแล้วผลกระทบก็จะตกไปที่อุตสาหกรรมเช่นกัน เช่น ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชน ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจตามมาด้วย

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะภาคธุรกิจเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม การมองแบบองค์รวม คือ การพัฒนาในเรื่องของผลิตภัณฑ์และเรื่องของกระบวนการให้สอดรับกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างแรงจูงใจการดำเนินธุรกิจย่อมต้องอาศัยการเติบโตกิจการด้วยเช่นกัน

ดังนั้นหากเราจะดูการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากจะมีการกล่าวถึงเรื่องของ green (สิ่งแวดล้อม) และ growth (การเติบโต) ไปพร้อม ๆ กัน แต่ไม่ใช่เสียสละทรัพยากรบางส่วนในธุรกิจเพื่อได้มาซึ่งการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แตˆจะต้องหาวิธีการที่ธุรกิจได้นำศักยภาพเชิงเศรษฐนิเวศหรือเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตด้วย

ต่อไปนี้การพัฒนาเศรษฐกิจจะถูกแวดล้อมด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการวัสดุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพหรือระบบนิเวศ ในการหาตัวแบบและวิธีการให้เติบโตไปพร้อมกับการยอมรับของสังคมและกิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับ Green Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวนี้ เน้นการพัฒนา สิ่งแวดล้อม ซึ่งจำแนกได้ 2 เรื่อง คือ เรื่องการจัดการทรัพยากรบุคคลและเรื่องการจัดการระบบ ทั้งกระบวนการนำเข้าและกระบวนการส่งออก ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยเน้นการเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงทิศทางความต้องการของผู้บริโภค

"การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นกรอบใหญ่สุดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วน CSR เปรียบเสมือนกลไกในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจะเห็นว่าในแต่ละองค์กร จะมีกลยุทธ์ได้หลายกลยุทธ์ ซึ่ง Green Ocean เป็นส่วนหนึ่งในการทำ CSR เช่นกัน"

แนวคิดหลักในการจัดการทรัพยากรบุคคลนั้นจะต้องปลูกฝัง 7Rs พื้นฐานก่อน คือ 1) Rethink 2) Reduce 3) Reused 4) Recycle 5) Refuse คือ การปฏิเสธทรัพยากรหรือวัตถุดิบในการผลิต ที่อาจจะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) Recondition ซึ่งรวมกันระหว่าง repair คือ การซ่อมแซมและ replace

ส่วนสุดท้าย อันดับที่ 7) Return คือ การได้มาซึ่งผลตอบแทนทั้งองค์กรและกิจการ ที่สำคัญคือการตอบแทนสู่สังคม

ด้านการนำไปปรับใช้ในองค์กรธุรกิจ มีหลายธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรต้นแบบว่าเป็นธุรกิจสีเขียว อาทิ บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย และ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

"วัฒนา โอภานนท์อมตะ" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.บางจากปิโตรเลียม กล่าวว่า หากมองย้อนหลังไปเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ในแง่การทำธุรกิจทั่วไปจะพบว่า ธุรกิจจะมองเพียงผลตอบแทนเป็นตัวตั้งเท่านั้น คือ เน้นเรื่องเศรษฐกิจ มีเพียงบางองค์กรเท่านั้นที่คิดถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย

และด้วยวิกฤตราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มาจากปัญหาการขนส่งและ ความไม่ต้องการขายน้ำมันจากประเทศผู้ค้าน้ำมัน จึงทำให้บางจากฯ นำแก๊สโซฮอล์หรือ ไบโอดีเซลซึ่งเป็นพลังงานทดแทนมาลดการใช้น้ำมันแทน

นอกจากจะมีการผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนแล้ว ยังมีการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะคนเจเนอเรชั่นวาย ซึ่งพบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น และทำให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

"การที่จะยั่งยืนได้ ต้องเติบโตได้ มั่นคงได้ และการที่จะเติบโตมั่นคงได้ คือการ ที่จะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย" วัฒนากล่าว

ส่วนผู้ที่มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ "เมธา จันทร์แจ่มจรัส" กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษา เรียล เอสเตท กล่าวว่า หลายคนมองว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องมีวิธีการที่ต้องถึงมวลชน ต้องสร้างความไว้ใจให้กับมวลชน

และด้วยปณิธานของบริษัทที่ต้องการสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำต้นทุนให้ต่ำ และราคาต่ำ เพื่อผู้บริโภคจะได้มีกำลังซื้อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ของที่ไม่มีคุณภาพ เราสามารถเลือกวัตถุดิบที่ดีได้ แต่สิ่งที่พฤกษาทำ คือ การเน้นการบริหารต้นทุนและการจัดการ เพื่อจะทำให้กระบวนการก่อสร้างถูกที่สุด มีคุณภาพที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่หลายคนอยากได้ทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก

กระบวนการก่อสร้างโครงการ อสังหาริมทรัพย์ตามท้องตลาดทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นระบบก่อฉาบปูน ซึ่งปัญหาของระบบนี้ จะเห็นจากเมื่อไปบริเวณที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง จะสังเกตเห็นถุงปูนเกลื่อนกลาดตามพื้นอยู่มากมาย หรือเศษขยะเหล่านั้นจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในการไปกำจัดให้เรียบร้อย ซึ่งก็จะทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นไปอีก

แต่สำหรับพฤกษาฯ ใช้วิธีการ Rethink หรือคิดใหม่ โดยการใช้วิธีสำเร็จรูปในระบบปิด โดยการทำในโรงงานก่อนแล้วจึงนำมาประกอบที่ไซต์งานก่อสร้าง

"หากเราผลิตวัสดุก่อสร้างในที่เดียว โดยการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมปริมาณวัตถุดิบและปริมาณฝุ่นหรือเสียงอันเป็นมลพิษที่เกิดจากการก่อสร้างได้ เราก็สามารถผลิตในระบบปิดได้ด้วย แล้วนำวัสดุเหล่านั้นมาประกอบที่ไซต์ สิ่งที่ตามมา คือ ความเป็นระเบียบ ความสะอาดและแทนที่จะใช้วิธีการขนส่งวัสดุในการก่อสร้างมากมายไปตามไซต์งานต่าง ๆ ก็ขนส่งไปยังโรงงานที่เดียวเพื่อผลิตเป็นวัสดุสำเร็จรูปให้เบ็ดเสร็จในครั้งเดียว ซึ่งจะทำให้การจราจรบริเวณที่ก่อสร้างลดลง ทั้งยังลดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างตามไปด้วย" เมธากล่าว

ส่วน "วีนัส อัศวสิทธิถาวร" ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ระบุว่า จากการตั้งเป้าหมายให้ปี 2558 เอสซีจีจะต้องเป็นองค์กรที่ยึดถือการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นองค์กรต้นแบบ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่หมายถึงการขยายครอบคลุมอาเซียน ทำให้วันนี้บริษัทมีภารกิจหลายเรื่องที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น

เอสซีจีจึงมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ในการคิดใหม่ ทำใหม่ หรือการนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ งาน เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือแม้แต่ การพัฒนาพนักงานด้วยการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมุ่งหางานวิจัยใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้าและบริการอยู่ตลอดเช่นกัน

แล้วอุตสาหกรรมสีเขียวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนพร้อม ๆ กัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการในการกำกับควบคุมดูแล หรือเรื่อง สิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปทำหน้าที่ในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ตลอดจนต้องมีมาตรการจูงใจ ส่งเสริม ชักชวนโรงงานต่าง ๆ ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนตามมา

"องค์กรที่จะเป็นต้นแบบด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้นั้น ต้องชวนองค์กรอื่นมาร่วมเป็นเครือข่ายกันด้วย" วีนัสกล่าว


[Original Link]