Green Ocean Strategy

(www.greenoceanstrategy.org)

เปิดกลยุทธ์ Green Ocean ผลกำไร & โลกใบสีเขียว

ชนิตา ภระมรทัต

ใครๆ ก็รู้ว่ากระแส "โลกาภิวัตน์" นั้นทรงอิทธิพล เรียกได้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แทบทุกสิ่ง เว้นก็แต่ "อำนาจในมือของผู้บริโภค" ที่แม้ผ่านร้อนผ่านหนาวก็ยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคง ธุรกิจจึงมักกลับมาทบทวนเริ่มใหม่กันที่ Demand Side อยู่ร่ำไป

...ว่ากันว่านับวันเสียงของผู้บริโภคจะเรียกร้องกระแสสีเขียว ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจจากนี้ไปเลยต้องมุ่งหน้าสู่น่านน้ำสีเขียว ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวถึงแนวคิด Green Ocean Strategic ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมมือ กับ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) เปิดตัวกลยุทธ์นี้โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย

เพราะบทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อเลี่ยงจากการแข่งขันฟาดฟันกันด้วยราคาของกลยุทธ์น่านน้ำสีแดง มามุ่งแข่งกันด้วยนวัตกรรมของกลยุทธ์น่านน้ำสีน้ำเงิน ที่สุดก็ช่วยสร้างความแตกต่างได้ไม่นานและต้องพ่ายแก่ศาสตร์ Copy and Development บทสรุปจึงหนีไม่พ้นที่จะยูเทิร์นกลับมาที่น่านน้ำสีแดงเช่นเดิมอีก

ในยุคที่โลกร้อน "สีเขียว" ต่างหากที่จะส่งธุรกิจถึงฟากฝั่งแห่งความยั่งยืน

"ผมดีไซน์กลยุทธ์นี้เพื่อตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก และไม่ว่าธุรกิจไซส์ไหนๆ ก็ทำได้ อีกทั้งไม่ว่าจะยังอยู่ในน่านน้ำสีแดง หรือสีน้ำเงินก็สามารถ ผูกโยงนำกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวไปใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความยอมรับของผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น "

เขาบอกว่ากลยุทธ์นี้ไม่ได้หมายถึงเงินลงทุนก้อนโต และไม่ได้หมายถึงการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

เพียงแค่ควรตรวจสอบประเมินองค์กร (Organizational Self-Assessment) ตรงจุดสตาร์ทเสียก่อนว่ามีกรีน หรือสีเขียวในคอนเซปต์ของกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวมากน้อยเพียงไร จากนั้นค่อยมาปรับแต่งเติมจุดที่พร่องหรือเกลี่ยจุดที่มากเพื่อให้เกิดสมดุล

Green Ocean Strategic แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ระบบ และส่วนที่สองคือ คน

ในเรื่องของ "ระบบ" นั้น มีธรรมาภิบาลสีเขียว (Green Governance) คอยกำกับดูแล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 หมวด ได้แก่ 1.ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Resource Efficiency) 2.ภาระรับผิดชอบในกระบวนการ (Process Accountability) และ 3.ประสิทธิผลในตัวผลิตภัณฑ์ (Product Effectiveness)

ธรรมาภิบาลสีเขียวจึงช่วยดูแลกระบวนการผลิตตลอดทั้งสาย จาก "ต้นน้ำ" ไปจนถึง "ปลายน้ำ" (input-output)

เริ่มจากคำนึงถึงวัตถุดิบหรือทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งเรื่องของต้นทุน อาทิ การใช้วัตถุดิบที่อยู่ในท้องถิ่นก่อนเป็นต้น แล้วเข้าสู่กระบวนการที่ต้องอาศัยการบันทึกเพื่อทำให้สามารถตรวจสอบ และอธิบายได้อย่างโปร่งใสถึงความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (accountability) จนกลายเป็น Green Products เมื่อถึงปลายน้ำ

"ผมใช้คำว่า Product Effectiveness กับสินค้าที่ปลายน้ำ เพราะที่นอกเหนือไปกว่าคำนี้ยังสื่อถึงการบอก หรือให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการใช้สินค้าได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเข้าสู่วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืนด้วย"

ส่วนเรื่องของ "คน" เป็นเรื่องของการปลูกสร้างอุปนิสัยสีเขียว 7 ประการ (Green Habits) นั่นก็คือ 1.Reduce 2.Reuse 3.Recycle ซึ่งสามข้อแรกนี้ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วมาบวกเข้ากับ 4.Rethink 5.Recondition 6.Refuse และ 7.Return

เหตุผลก็คือ ทุกๆ เรื่อง ล้วนต้องเริ่มต้นที่การพัฒนากรอบคิด หรือทัศนคติ และจิตสำนึกของคนภายในองค์กรเสียก่อน ขณะที่ Recondition หมายถึงการนำสิ่งของที่มีอยู่แล้วมาปรับสภาพใหม่ เช่น เครื่องจักรกลแทนที่จะซื้อเครื่องใหม่ ก็แค่เปลี่ยนชิ้นส่วนแล้วก็ใช้ได้ใหม่เหมือนเดิม Refuse คือการปฏิเสธวัตถุดิบหรืออะไรก็ตามทีที่จะเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายเมื่อนำทรัพยากรมาสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจแล้วก็ต้อง Return คืนกลับไปไม่ควรติดหนี้ธรรมชาติ

ดร.พิพัฒน์อธิบายถึงความเกี่ยวข้องว่าแท้จริงกลยุทธ์น่านน้ำสีเขียวเป็นการแตกแขนงมาจาก CSR (Corporate Social Responsibility) นั่นเอง (CSR ก็คือส่วนหนึ่งของ SD -Sustainable Development อีกที)

และเขาเชื่อว่า น่านน้ำสีเขียว มาได้ถูกจังหวะและเวลา เป็นอย่างยิ่ง เพราะองค์กรธุรกิจชั้นนำในระดับประเทศและระดับโลกในปัจจุบัน อาทิเช่น เอสซีจี แมคโดนัลด์ วอลมาร์ท โตโยต้า ฯลฯ ล้วนประกาศตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปแล้วทั้งสิ้น และบางแห่งถึงขั้นนำค่านิยมนี้ผลักดันไปยังห่วงโซ่อุปทานของตัวเองอีกด้วย

เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ให้น้ำหนัก แน่นอนย่อมกระตุกความคิดของใครต่อใครว่า "เรื่องนี้ต้องมีอะไรดีๆ เป็นแน่" ซึ่งก็ดีตามคาดเนื่องจากผลประกอบการของบริษัทชั้นนำเหล่านั้นโชว์ความโดดเด่นเหนือขึ้นไปอีก และคงปฏิเสธไม่ลงว่า นี่คือกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดได้อย่างยอดเยี่ยม

"สถาบันของเราจะขับเคลื่อน Green Ocean คู่ไปกับ CSR ภายหลังที่เผยแพร่เรื่องนี้ออกไปหากองค์กรใดต้องการให้เราไปศึกษากรณีตัวอย่างเราก็จะไปเก็บเคสในเชิงวิชาการ ภายหลังกระบวนการดังกล่าวก็จะเกิดเป็นบทความทางวิชาการ เป็นหนังสือที่สามารถเผยแพร่ให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง"

ก็เพราะไทยพัฒน์ฯ หวังจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยหนุนธุรกิจไทยให้ก้าวไปแข่งขันได้ในเวทีโลก..ซึ่งในวินาทีนี้เต็มไปด้วยความคาดหวังให้องค์กรธุรกิจทำกำไรไปพร้อมๆ กับช่วยทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น.. อย่างสมศักดิ์ศรี


[Original Link]